การแข่งรถรายการ ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ที่มีชื่อเสียงระดับตำนาน ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งที่ 93 ปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาพอากาศปลอดโปร่ง การแข่งขันยอดนิยมรายการนี้มีทีมผู้ผลิตรถยนต์ไฮเปอร์คาร์ 8 รายร่วมลงสนามแข่ง โดยทุกรายติดตั้งยางมิชลินให้กับรถแข่งของตน และเป็นอีกครั้งที่สมรรถนะและประสิทธิภาพสม่ำเสมอของยางมิชลินยังคงสร้างความประทับใจที่น่าจดจำให้กับการแข่งขัน
บนสนามแข่งที่พื้นผิวอยู่ในสภาพแห้งตั้งแต่เริ่มจนจบการแข่งขัน ยาง ‘มิชลิน ไพลอต สปอร์ต เอ็นดูรานซ์’ สูตรเนื้อยางแข็งปานกลางเป็นหัวใจสำคัญของแผนกลยุทธ์หลักของทีม โดยความยืดหยุ่นในการใช้งานที่เหนือกว่าของยางรุ่นนี้ส่งผลให้ทีมนักแข่งสามารถใช้ยางชุดเดียววิ่งต่อเนื่องสามช่วงการแข่งรถได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนยางในพิท (Triple Stints) และไม่กระทบต่อสมรรถนะในการขับขี่ แม้อุณหภูมิสนามแข่งระหว่างกลางวันและกลางคืนจะผันผวนและแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม
ปิแอร์ อัลเวส (Pierre Alves) ผู้จัดการฝ่ายการแข่งขันประเภทระยะยาวแบบมาราธอน หรือ "เอ็นดูรานซ์" (Endurance) ของ 'มิชลิน มอเตอร์สปอร์ต' เปิดเผยว่า "การแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ในปีนี้ มอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง นอกจากสภาพอากาศจะแจ่มใสเป็นใจต่อการแข่งขันแล้ว ยังมีผู้สนใจเข้าชมการแข่งขันตลอดช่วงสุดสัปดาห์จำนวนสูงถึง 330,000 คน อีกทั้งยาง ‘มิชลิน ไพลอต สปอร์ต เอ็นดูรานซ์’ สูตรเนื้อยางแข็งปานกลางยังได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในใช้งานที่เป็นเยี่ยม โดยให้ประสิทธิภาพสูงอย่างสม่ำเสมอในการวิ่งต่อเนื่องสามช่วงการแข่งรถ หรือ Triple Stints ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงของการแข่งขัน"
มิชลินคว้าชัยชนะติดต่อกันเป็นสมัยที่ 28 ในการแข่งรถรายการ ‘เลอ ม็องส์’
ชัยชนะในฤดูกาลแข่งขันล่าสุดของทีม ‘เอเอฟ คอร์เซ่’ และทีม ‘เฟอร์รารี่’ ส่งผลให้มิชลินครองตำแหน่งแชมป์ในการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์’ ติดต่อเป็นสมัยที่ 28 นับจากหวนกลับมาเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรายการนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2541 ณ สนามแข่งซาร์ธ (Sarthe) ขณะเดียวกันยังเป็นการคว้าชัยในการแข่งรถรายการ ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 สำหรับทีม ‘เฟอร์รารี่’ ทำให้ทีมที่มีฉายา "ม้าลำพอง" โดดเด่นเป็นพิเศษในรายการแข่งรถระยะทางไกล FIA World Endurance Championship (WEC) ประจำปี 2568 ด้วยการประเดิมกวาดชัยชนะ 3 สนามแรก
ความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความยั่งยืนและเทคโนโลยี
นอกจากเรื่องสมรรถนะ การแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์’ ปีนี้ยังเป็นก้าวสำคัญสำหรับมิชลินในด้านกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Strategy) ด้วย โดยการผสานพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติสวีเดน ‘เอ็นไวโร’ (Enviro) ทำให้มิชลินสามารถนำยางรถไฮเปอร์คาร์ทุกเส้นที่ใช้ในการแข่งขันเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลผ่านการย่อยสลายโดยใช้ความร้อนในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน หรือ "ไพโรไลซิส" (Pyrolysis) โดยได้รับ ‘คาร์บอนแบล็ค’ (Carbon Black), น้ำมัน และเหล็กกล้า จากการรีไซเคิลกลับมาหมุนเวียนใช้ในการผลิตยางใหม่
ขณะเดียวกัน มิชลินยังคงทุ่มเทคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่ายางตัวอย่างสำหรับจัดแสดง (Demonstration Tires) ในปัจจุบันใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนสูงถึง 71% ถือเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จสู่การผลิตยางที่ยั่งยืน 100% ภายในปี 2593 ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดมาใช้ในยางสำหรับรถยนต์ต้นแบบ H24EVO ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจน และรถแข่ง Porsche GT4 e-Performance ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% แล้ว
ยางที่พัฒนาขึ้นด้วยระบบจำลองภาพเสมือนจริงและพิสูจน์ศักยภาพบนสนามแข่ง
ยาง ‘มิชลิน ไพลอต สปอร์ต เอ็นดูรานซ์’ (MICHELIN Pilot Sport Endurance) รุ่นปี 2568 ได้รับการออกแบบทุกขั้นตอนด้วยระบบจำลองภาพเสมือนจริง จึงช่วยลดจำนวนการผลิตยางต้นแบบลงได้อย่างมาก ซึ่งไม่เพียงเป็นการจำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง แต่ยังส่งผลให้ยางมีสมรรถนะในการใช้งานจริงที่ดีขึ้น
แนวทางสู่ปี 2569: ผลิตภัณฑ์ยางภายใต้แนวคิด Race to Vision
ภายในปี 2569 มิชลินจะรุกก้าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยางรุ่นใหม่สำหรับรถไฮเปอร์คาร์ที่ไม่เพียงใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียนเป็นส่วนประกอบในสัดส่วน 50% แต่ยังโดดเด่นด้วยลวดลายกำมะหยี่บนดอกยางที่เรียกว่า Race to Vision พัฒนาการดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในแผนงานของกลุ่มมิชลินที่มุ่งผสานสมรรถนะด้านกีฬามอเตอร์สปอร์ตเข้ากับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ความมุ่งมั่นที่โดดเด่นด้านโลจิสติกส์และบุคลากร
ในการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์’ ประจำปีนี้ มิชลินได้ระดมสรรพกำลังของบุคลากรด้านมอเตอร์สปอร์ตจำนวน 110 คน เพื่อให้บริการแก่พันธมิตร 21 รายซึ่งลงแข่งขันประเภทไฮเปอร์คาร์ โดยสนับสนุนยางทั้งสิ้น 4,100 เส้น แต่ได้จัดส่งยางจำนวน 3,700 เส้นไปล่วงหน้าก่อนการแข่งขัน เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือ "คาร์บอนฟุตพริ้นท์" (Carbon Footprint) ที่เกิดจากการขนส่ง
มร.อัลเวส กล่าวเสริมว่า "ขอขอบคุณทีมงาน 'มิชลิน มอเตอร์สปอร์ต' ที่ทุ่มเทพลังกายใจให้บริการสนับสนุนพันธมิตรผู้ผลิตรถไฮเปอร์คาร์ทุกรายของเราอย่างเต็มที่ตลอดสัปดาห์การแข่งขัน ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้แบรนด์มิชลินเป็นที่รับรู้และจดจำในการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’"
มิชลินครองโพเดียมในการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ประจำปี 2568
สำหรับผลการแข่งขัน ‘เลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง’ ครั้งที่ 93 นี้ ทีม ‘เอเอฟ คอร์เซ่’ ครองอันดับที่ 1 ด้วยรถแข่ง Ferrari 499P หมายเลข 83 จากฝีมือการขับของ โรเบิร์ต คูบิกา (Robert Kubica), ฟิลิป แฮนสัน (Philip Hanson) และ เย่ อี้เฟย (Ye Yifei) ตามมาด้วยทีม ‘ปอร์เช่’ ซึ่งครองอันดับที่ 2 ด้วยรถแข่ง Porsche 963 หมายเลข 6 จากการขับของ เควิน เอสเตร (Kévin Estre), ลอเรนส์ แวนธูร์ (Laurens Vanthoor) และ แมตต์ แคมป์เบลล์ (Matt Campbell) ที่ควบคุมสมรรถนะการขับขี่และรับมือกับความกดดันจากการแข่งขันได้ดี โดยทีม ‘เฟอร์รารี่’ คว้าโพเดียมอันดับที่ 3 ไปครองด้วยรถแข่ง Ferrari 499P หมายเลข 51 จากการขับของ อเลสซานโดร ปิแอร์ กีดี (Alessandro Pier Guidi), เจมส์ คาลาโด (James Calado) และ อันโตนิโอ จิโอวินาซซี (Antonio Giovinazzi)
บทสรุป
"เมื่อทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แสดงว่าถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าฝ่าฟันไปให้ไกลกว่านั้น" แมทธิว โบนาร์เดล (Matthieu Bonardel) ผู้อำนวยการของ 'มิชลิน มอเตอร์สปอร์ต' กล่าวทิ้งท้ายอย่างมุ่งมั่น การแข่งขันครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าแม้ยางจะให้ประสิทธิภาพที่สม่ำเสมอ แต่มิชลินยังคงคิดค้นนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมิชลินตอกย้ำบทบาทในฐานะแบรนด์ผู้บุกเบิกการสัญจรแห่งอนาคต ด้วยการผสานสมรรถนะ นวัตกรรมที่ยั่งยืน และความทุ่มเทของบุคลากร เข้าด้วยกัน
การแข่งรถแบบมาราธอนสุดทรหด 'Le Mans 24 Hours' สนามพิสูจน์สมรรถนะ ประสิทธิภาพที่สม่ำเสมอ และนวัตกรรมของยางจาก Michelin
Discussion in 'News' started by News, Jun 27, 2025.
Comments
Discussion in 'News' started by News, Jun 27, 2025.