เมื่อเร็วๆ นี้ Isuzu ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ สิ่งที่แตกต่างจากรุ่นเก่า จะเน้นที่เครื่องยนต์รุ่นใหม่เป็นหลัก ซึ่งมีความจุกระบอกสูบ 1.9 ลิตร หรือ 1,900 ซีซี. จำนวน 4 สูบ รหัสเครื่องยนต์ RZ4E-TC เมื่อเทียบกับรุ่นเดิมที่ใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร หรือ 2,500 ซีซี. รหัสเครื่องยนต์ 4JK1-TCX โดยเน้นเรื่องความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง 19% แรงม้าเพิ่มขึ้น 10% แรงบิดเพิ่มขึ้น 9% และน้ำหนักเบากว่าเดิม 20% หรือประมาณ 60 กิโลกรัม ดูจากข้อมูลดังกล่าวแล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับนวัตกรรมเครื่องยนต์รุ่นใหม่จาก Isuzu ว่าจะทำได้จริงอย่างที่บอกไว้หรือเปล่า
บทความนี้เราจะนำรถ Isuzu รุ่นใหม่ 1.9 มาลองวิ่งทดสอบในแบบเซอร์กิตที่สนามพีระเซอร์กิต, พัทยา จังหวัดชลบุรี และยังทดสอบในแบบแดร็กอีกด้วย (วิ่งทางตรงระยะสั้น 400 เมตร) ในการวิ่งทดสอบนั้นเราได้นำรถ Isuzu รุ่นเดิม 2.5 มาวิ่งทดสอบเพื่อนำเวลาที่ได้มาเปรียบเทียบสมรรถนะด้วยกัน โดยที่รถทั้งสองคันจะเป็นรถเดิมๆ มาจากโรงงานไม่มีการปรับแต่งใดๆ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง รุ่นปกติไม่ยกสูง ล้อและลมยางเท่ากัน 30 Psi ผู้ขับคนเดียวกัน ผู้ทดสอบคนที่ 1 นักแข่งรถชื่อ วริศ อ่อนระยับ (เก่ง RacingWeb) เป็นแชมป์ในรายการ Nitto 3K Kumho Racing Car Thailand รุ่น Isuzu Full Race ปี 2013 และ 2014, รองแชมป์ในรายการ Thailand Super Series รุ่น Super Pickup ปี 2014 ผู้ทดสอบคนที่ 2 นักแข่งรถชื่อ อลงกรณ์ แซ่ตั้ง (หนุ่ม เม้งการยาง) เป็นแชมป์ในรายการ Nitto 3K Kumho Racing Car Thailand รุ่น Isuzu One Make Race ปี 2013 และอุปกรณ์ที่วัดผลการทดสอบเป็นตัวจับเวลาต่อรอบในรถแข่ง AiM Solo DL สามารถจับเวลาต่อรอบในแบบเซอร์กิตและจับเวลาโดยวัดระยะทางในแบบแดร็กด้วยระบบ GPS
การทดสอบในแบบเซอร์กิต (Circuit Racing) วิ่งรอบสนาม
เริ่มต้นคันแรกผมได้ทดลองขับรุ่น 2.5 ซึ่งเป็นรถที่คุ้นเคยมากที่สุดเนื่องจากเป็นรถแบบเดียวกับที่ใช้แข่ง สำหรับรถคันนี้ผมวิ่งไปทั้งหมดจำนวน 8 รอบ ในรอบที่ 6 ทำเวลาต่อรอบได้ดีที่สุด 1.31.88 นาที
สำหรับเครื่องยนต์ 2.5 ทำเวลาดีที่สุด 1.31.88 นาที ในรอบที่ 6 สำหรับการทดสอบแบบเซอร์กิต
คันที่สองรถรุ่น 1.9 ความรู้สึกครั้งแรกที่สัมผัส ได้ลองเหยียบคันเร่งตอนที่อยู่ในตำแหน่งเกียร์ 3 รู้สึกได้ถึงอัตราเร่งที่มาจากแรงบิดในรอบต้นได้อย่างชัดเจน เมื่อมีแรงบิดในรอบต้นที่ดี นั้นก็หมายถึงรถสามารถออกโค้งเพื่อเข้าสู่ทางตรงได้รวดเร็ว สำหรับรถคันนี้ผมวิ่งไปทั้งหมดจำนวน 8 รอบ ในรอบที่ 6 ทำเวลาต่อรอบได้ดีที่สุด 1.27.46 นาที
สำหรับเครื่องยนต์ 1.9 ทำเวลาดีที่สุด 1.27.46 นาที ในรอบที่ 6 สำหรับการทดสอบแบบเซอร์กิต
Isuzu Dmax 1.9 Blue Power ทำเวลาได้ดีกว่ารุ่นเดิม 2.5 กว่า 4 วินาที!
ทำไมรุ่น 1.9 ทำเวลาได้เร็วกว่า 2.5 ถึง 4 วินาที ถ้าในรถแข่งประเภทเซอร์กิตที่แข่งในเรซเดียวกัน เวลาที่แตกต่าง 4 วินาที ถือว่าเยอะมาก เรามาวิเคราะห์กัน
- อย่างแรกที่สัมผัสถึงกำลังเครื่องยนต์ที่แรงขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแรงบิดในช่วงรอบต้นของ 1.9 มีอัตราเร่งที่ดีกว่า 2.5 จึงมีผลทำให้ออกโค้งได้เร็วมาก เมื่อออกโค้งได้เร็ว ก็สามารถทำความเร็วสูงสุดได้เร็วยิ่งขึ้น เทียบความเร็วสูงสุดในช่วงทางตรงของสนามพีระจากตัวเลขที่ต่อท้ายของเวลาที่ดีที่สุด ในรุ่น 2.5 ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ 127 กม./ชม. ในรุ่น 1.9 ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ 138 กม./ชม. ห่างกัน 11 กม./ชม. (ตัวเลขก่อนหน้าความเร็วสูงสุด คือ ความเร็วต่ำสุด รถทั้งสองรุ่นทำได้ 50-51 กม./ชม. ซึ่งอยู่ช่วงโค้งแคบสุดก่อนเข้าทางตรง)
- น้ำหนักของเครื่องยนต์ที่เบาขึ้นประมาณ 60 กิโลกรัม มีผลทำให้น้ำหนักที่เคยหนักอยู่หน้ารถ ถอยมาอยู่กลางของตัวรถอีกนิดหน่อย นั้นหมายความว่า น้ำหนักหน้ารถเบาขึ้น มีผลทำให้เข้าโค้งได้ง่าย อาการหน้าไถลน้อยลง (Understeering) เมื่อเข้าโค้งแรงๆ รวมทั้งอาการท้ายปัด (Oversteering) เมื่อกดคันเร่งในโค้งที่เป็นอาการประจำตัวของรถปิคอัพที่ท้ายเบาๆ ก็ลดลงด้วย โดยรวมทั้งสองอาการที่ลดลง จึงมีผลทำให้ควบคุมรถในโค้งได้แม่นยำมากขึ้น รวมทั้งการทรงตัวของรถมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น ทำเวลาในโค้งได้เร็วมากกว่าเดิม
- เป็นอาการที่ต่อเนื่องของเครื่องยนต์ที่เบาขึ้นคือการเบรก เมื่อหน้ารถเบาขึ้น การเบรคแรงๆ ในทางตรงและในโค้ง มีเสถียรภาพมากขึ้น หน้ารถไม่หัวทิ่มมากเกินไป ทำให้ควบคุมอาการของรถง่ายขึ้น ไม่ต้องเผื่อระยะเวลาหรือแก้อาการของรถ จึงทำให้เหยียบคันเร่งออกโค้งได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- ระบบส่งกำลังหรือเกียร์แบบ 6 สปีด ทำให้ส่งกำลังได้ต่อเนื่องในทุกรอบเครื่องและทุกช่วงความเร็ว (วิ่งในสนามพีระใช้ได้แค่ เกียร์ 5 เนื่องจากมีทางตรงที่สั้น)
นอกจากความแตกต่างที่ทำให้รุ่น 1.9 วิ่งได้เร็วกว่ารุ่น 2.5 ยังมีเรื่องของเสียงเครื่องยนต์ที่ลดลงตั้งแต่รอบเดินเบาไปจนถึงรอบเครื่องยนต์สูงสุด เพราะในระหว่างวิ่งทดสอบจะต้องใช้รอบเครื่องยนต์สูงเกือบตลอดเวลา แต่เสียงที่ผ่านเข้ามาในห้องโดยสารรุ่น 1.9 เงียบกว่า 2.5 ค่อนข้างมาก อีกเรื่องที่สำคัญคือการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ถึงแม้ว่าทีมงานไม่ได้เตรียมอุปกรณ์เพื่อวัดระดับอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แต่เราใช้วิธีประมาณคร่าวๆ จากเกจวัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับจำนวนรอบที่วิ่งไปในรุ่น 2.5 เกจวัดน้ำมันอยู่ในระดับ 1/4 วิ่งไปทั้งหมด 8 รอบ เกจวัดตกลงไป 2 ระดับ หรือประมาณ 1/8 ในขณะที่รุ่น 1.9 มีน้ำมัน 1/4 เท่ากัน วิ่งไปทั้งหมด 8 รอบ แต่เกจวัดระดับน้ำมันลดลงไปแค่ 1 ระดับเท่านั้น
การทดสอบในแบบแดร็ก (Drag Racing) หรือทางตรงในระยะทาง 400 เมตร
เพื่อความสนุกในการทดสอบจึงได้เชิญนักแข่งอีกคนมารวมทดสอบ เพื่อจะได้ปล่อยตัวเพื่อวิ่งคู่ด้วยกัน โดยจะขับกันคัน 2 รอบ และสลับกับขับเพื่อหาความแตกต่างระหว่างรถ 2 รุ่น
ในช่วงการออกตัวที่เกียร์ 1 รถทั้งสองรุ่นออกตัวได้เร็วเท่าๆ กัน แต่เมื่อเริ่มเข้าเกียร์ 3 รถรุ่น 1.9 เริ่มทิ้งระยะห่างออกไป และห่างออกไปเรื่อยๆ เมื่อใส่เกียร์ 4 กับ 5 โดยมีผลการทดสอบดังนี้
รอบที่ 1
รุ่น 1.9 ทำเวลาได้ 18.73 วินาที
รุ่น 2.5 ทำเวลาได้ 20.11 วินาที
![]()
รอบที่ 2
รุ่น 1.9 ทำเวลาได้ 18.53 วินาที
รุ่น 2.5 ทำเวลาได้ 19.95 วินาที
![]()
ทั้งสองรุ่น ทำเวลาห่างกันประมาณ 1.5 วินาที ในการทดสอบแบบแดร็กหรือทางตรงระยะสั้นจะเน้นที่กำลังของเครื่องยนต์เป็นหลัก เวลาที่ทำได้แสดงให้เห็นถึงกำลังของเครื่องยนต์รุ่นใหม่ 1.9 มีมากกว่ารุ่นเดิม 2.5 อย่างชัดเจน
*เนื่องจากช่วงทางตรงของสนามพีระเซอร์กิตเป็นทางขึ้นเขานิดๆ ฉะนั้นเวลาที่ทำได้จะมากกว่าประมาณ 1-2 วินาที ถ้าเทียบกับสนามแข่งแดร็กปกติ
สรุปการทดสอบ
ผลการทดสอบเห็นได้ชัดเจนว่า Isuzu Dmax 1.9 Ddi Blue Power ทำเวลาต่อรอบในแบบเซอร์กิตและทำเวลาในช่วงทางตรงระยะสั้นได้เร็วมากกว่ารุ่นเดิม 2.5 อยู่หลายวินาที ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะที่ดีโดยรวมทั้งหมด
ในขณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้น้อยลง รวมทั้งเสียงเครื่องยนต์เงียบลง ถือว่าเป็นนวัตกรรมในการออกแบบเครื่องยนต์ใหม่ที่ทำได้จริง ไม่ใช่แค่ตัวเลขเอาไว้โฆษณา
คลิปวิดีโอการทดสอบ (ตั้งแต่นาทีที่ 14:00 เป็นต้นไป)
ขอขอบคุณ: อีซูซุมหานคร ที่นำรถมาให้ทดสอบ และรูปภาพรถในระหว่างการทดสอบ
ทดสอบ Isuzu รุ่นใหม่ 1.9 Ddi Blue Power กับรุ่นเดิม 2.5 ใครจะแรงกว่ากัน
Discussion in 'Review' started by RacingWeb, Dec 10, 2015.
Comments
Discussion in 'Review' started by RacingWeb, Dec 10, 2015.