นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังไม่ได้ยื่นหนังสือขอปรับขึ้นค่าผ่านทางมายังกระทรวงคมนาคม แต่โดยเงื่อนไขสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีซีแอล) กำหนดให้เอกชนปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี ทั้งนี้ คงต้องให้ขึ้นตามสัญญา เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องร้อง โดยก่อนหน้านี้บอร์ด กทพ. ได้มีมติให้ปรับราคา คือ ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 รถยนต์ 4 ล้อ เก็บ 45 บาท จากปัจจุบัน 40 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ เก็บ 70 บาท จาก 60 บาท และรถยนต์ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปเก็บ 100 บาท จาก 85 บาท มีผลวันที่ 1 กันยายน 2551 ส่วนประเด็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับภาระ แต่ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลได้ให้ กทพ. เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งการพิจารณาครั้งนี้จะดูกระแสเงินสดของ กทพ. ว่า รับภาระต่อไปได้อีกหรือไม่ และดูว่าประชาชนรับภาระได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน กทพ. มีภาระหนี้สินสะสมถึง 99,000 ล้านบาท หากได้รับอนุมัติให้เก็บค่าแวตได้จะส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ เพิ่มเป็น 48 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ เพิ่มเป็น 74 บาท และรถยนต์ 10 ล้อขึ้นไปเพิ่มเป็น 107 บาท นอกจากนี้หากคมนาคมอนุมัติให้ทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ปรับขึ้นค่าผ่านทาง ในวันที่ 1 กันยายน อัตราค่าผ่านทางโครงการทางพิเศษอุดรรัถยาหรือบางปะอิน-ปากเกร็ด ก็จะมีผลในวันที่ 1 พฤษจิกายนนี้ ตามมติบอร์ด กทพ. เช่นกัน โดยช่วง แจ้งวัฒนะ-เชียงราก สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ เก็บเพิ่มเป็น 45 บาท จาก 40 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จัดเก็บ 95 บาท จาก 80 บาท และรถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป เก็บในอัตรา 140 บาท จาก 125 บาท ขอขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวไทยรัฐ
ขอพูดอะไรนิดนึงนะครับ ในฐานะที่ผมรู้จัก การทางพิเศษ พอสมควร ผมอยากบอกว่า การขึ้นค่าทางด่วนนี้ ไม่ได้สามารถสร้างรายได้อะไรให้กับองค์กรมากมายเลยครับ เพราะว่ามีรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงอยู่ด้วย ยังไงก็อย่าพึ่งด่าทอ หรือต่อว่า การทางฯ อะไรมากมายนะครับ